รอยยิ้มอาจเป็นรูปธรรมประการหนึ่งที่แสดงถึงภาวะแห่งความสุขของมนุษย์ ในขณะที่คนเราอยู่ในช่วงเวลาที่มีความสุข รอยยิ้มก็พลันเกิดขึ้นโดยมิต้องอาศัยความพยายาม
หากจะชี้วัดเป็นจำนวนเงิน รอยยิ้มของคนเรามีมูลค่าเท่าใด?
ผมเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจ จากการทบทวนถึงรอยยิ้มของผู้คน บ้างเป็นผู้มาปรึกษา บ้างเป็นผู้มาเข้าร่วมการอบรม ที่ผมได้สัมผัสจากการทำงานในฐานะนักจิตวิทยา
แน่นอน คำตอบก็คือ ไม่สามารถชี้วัดได้ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ที่สำคัญกว่าก็คือ มันชวนให้ผมตระหนักชัดๆ ว่า อย่านำคุณค่าจากการทำงานของเราไปชี้วัดเป็นมูลค่า
เพราะดูเหมือนคำว่า “คุณค่า” กับ “มูลค่า” จะมีความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และคุณค่าของงานไม่ได้แปรผันไปตามมูลค่าของงานแต่อย่างใด
ผมเชื่อว่างานด้านจิตวิทยาอาจไม่ได้ทำให้เรามีรายได้มากนัก เราอาจจะไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง เราอาจจะไม่้ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในวิชาชีพด้านการเยียวยาเฉกเช่นแพทย์หรือพยาบาล แต่คุณค่าในวิชาชีพจิตวิทยาของเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ และเราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับใคร
แน่นอนว่า ในหลายกรณี ผลที่เกิดขึ้นจากงานด้านจิตวิทยายากที่จะชี้วัดเป็นตัวเลข ยากที่จะประเมินผลเป็นรูปธรรม แต่ความสุข ความทุกข์ ความดีใจ ความผิดหวัง มีสิ่งใดที่ชี้วัดได้ชัดเจนเท่ากับหัวใจงั้นหรือ?
เรื่องนี้คงต้องปล่อยให้เป็นข้อโต้แย้งทางทฤษฎีเกี่ยวกับการวัดและการประเมินผลกันต่อไป
สิ่งที่เราพึงทำก็คือ ทำงานของเราไป หากเราเชื่อว่ามันมีคุณค่า
ผมเคยบอกกับหลายคนว่า “หากผมคาดหวังความร่ำรวย ผมจะเลิกทำงานด้านนี้” และผมก็ใช้ประโยคดังกล่าวในการตรวจสอบตนเองอยู่เสมอๆ
หากผมต้องการร่ำรวย ผมคงต้องคิดหาหนทางที่จะสร้างงานเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น แต่ผมเชื่อว่างานด้านจิตวิทยา ไม่สามารถเอามูลค่าทางจำนวนเงินเป็นที่ตั้งได้ เพราะงานของผมเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของตนเองที่มีต่อผู้คน โดยมีจิตใจทีปรารถนาดีเป็นพื้นฐาน
หากนำมูลค่ามานำหน้าคุณค่าของความสัมพันธ์เสียแล้ว เราจะทำงานด้านนี้ได้อย่างไร
มูลค่าทางจำนวนเงินเป็นผลพลอยได้ที่มาทีหลังคุณค่าของงาน
รอยยิ้มของผู้มารับบริการอาจจะไม่ได้ทำให้เรามีรายได้เพิ่มมากขึ้น
แต่มันทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตของตนเองมีคุณค่ามากขึ้น ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สร้างคุณประโยชน์ทางจิตใจให้กับเพื่้อนมนุษย์ด้วยกัน
22 พฤศจิกายน 2553